สุจิตต์ วงษ์เทศ : ในพระบรมโกศ


“ในพระโกศ” หรือ “ในพระบรมโกศ” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่เพิ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ มีบอกในคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2457) จะคัดมาโดยเฉพาะ ดังนี้
“พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง” (อธิบายเรื่องในรัชกาลต่างๆ ท้ายเล่มพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา)
โกศ (อ่านว่า โกด) แปลว่าที่ใส่ศพแบบนั่ง เป็นทรงกระบอกผายออกด้านบน ฝาครอบมียอด, ภาชนะใส่กระดูกคนตายขนาดเล็ก (พจนานุกรม ฉบับมติชน หน้า 109)
มีความเป็นมาหลายพันปีมาแล้วอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมาก ไม่มาจากอินเดียหรือจีน
โกศ มี 2 ชั้น ชั้นในเรียก โกศ  ชั้นนอกเรียก ลอง หมายถึง ส่วนประกอบนอกตัวโกศ หรือที่หุ้มโกศไว้ข้างใน สร้างเพิ่มสมัยหลังๆ มีระดับชั้นยศหลายระดับ
คำอธิบายของสมเด็จฯ เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมโกศ มีฉบับเต็ม ดังนี้
พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัดและพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน
ดังเช่น เรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินนั้นร้ายกาจ เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา
พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง
สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว
ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิตเมื่อเสวยราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่าขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น
ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่าขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า
ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่าพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี
ผู้เขียนสุจิตต์ วงษ์เทศ
ที่มามติชนออนไลน์