เล่าเรื่องเจดีย์


รูปแบบเจดีย์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ จึงเป็นต้นแบบของการสร้างเจดีย์นับแต่นั้นมา ดังตัวอย่างรูปทรงของ สาญจิเจดีย์ ในอินเดีย เจดีย์เก่าแก่สร้างเมื่อราว ๒,๒๐๐ ปีก่อน ก็มีรูปครึ่งทรงกลมประยุกต์จากรูปทรงบาตรคว่ำนั่นเอง 
สาญจิเจดีย์ (Sanchi) สูงประมาณ ๙๑ เมตร เขตหมู่บ้านสาญจี (Sanchi) อำเภอไรเซ่น (Raisen) แคว้นมัธยมประเทศ (Madhya Pradesh) ประเทศอินเดีย
พัฒนาการของรูปทรงเจดีย์
เมื่อเวลาผ่านมา รูปทรงของเจดีย์ก็มีพัฒนาการมาตามลำดับ เริ่มจาก การใช้ฉัตร ๗ ชั้นบ้าง ๙ ชั้นบ้าง ประดับอยู่บนยอดเจดีย์เพื่อแสดงความเคารพบูชา แต่เมื่อนานวันเข้า ฉัตรถูกลมพัดเอียงล้มบ้าง เก่าขาดบ้าง ในบางท้องที่จึงมีการ พัฒนาการสร้างฉัตรให้เป็นสิ่งปลูกสร้างถาวร กลายเป็นส่วนยอดของเจดีย์รูปทรงระฆังคว่ำ คล้ายที่พระปฐมเจดีย์ มหาเจดีย์ชเวดากองของเมียนม่าร์ และเจดีย์ทรงทิเบต เป็นต้น
มหาเจดีย์ชเวดากอง สูง ๙๘ เมตร ประเทศเมียนมาร์
เจดีย์แบบทิเบต “พระอารามนัมเจ” (Namche Monastery) ประเทศทิเบต
พระปฐมเจดีย์ โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีทอง จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย
ในประเทศจีน มีรูปทรงเจดีย์เป็นทรงตึกซ้อนกัน ๕ ชั้นบ้าง ๗ ชั้นบ้างโดยชั้นล่างจะใหญ่ ชั้นบนจะค่อย ๆ เล็กลงตามลำดับ 
เจดีย์กระเบื้องเคลือบนานจิง (Porcelain Tower of Nanjing) ประเทศจีน เป็นเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว เดิมมี ๓ ชั้น จักรพรรดิยุ่งโล้ โปรดให้สร้างเพิ่มเป็น ๙ ชั้น
เมื่อระยะเวลาผ่านไปกว่า ๒,๐๐๐ ปี แต่ละท้องถิ่นมีพัฒนาการรูปแบบเจดีย์เป็นเอกลักษณ์ของตนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเจดีย์แบบใด สิ่งที่เหมือนกัน คือ เจดีย์แต่ละแห่งได้เป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธในที่นั้น ๆ  ถือเป็นองค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พลังศรัทธาของชาวพุทธต่อองค์เจดีย์
ในประเทศเมียนม่าร์ เมื่อเข้าสู่ลานพระเจดีย์ ทุกคนจะต้องถอดรองเท้าเพื่อแสดงความเคารพ ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่คนโตเพียงใดก็ต้องปฏิบัติตาม 
เมื่อคราวที่ประเทศอังกฤษยึดพม่าเป็นอาณานิคม ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษต้องการเข้าเยี่ยมชมมหาเจดีย์ชเวดากอง
โดยจะใส่รองเท้าเข้าไป เพราะนับถือคนละศาสนา ถือว่าตนคือผู้มีอำนาจปกครอง เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ชาวพม่ามารวมตัวกันที่ลานมหาเจดีย์ชเวดากองนับหมื่นคน
แม้จะไม่มีอำนาจห้ามปรามข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ ไม่มีอาวุธที่จะไปต่อสู้ได้ แต่ทุกคนต่างพร้อมใจกันนอนทอดร่างเรียงต่อ ๆ กันเต็มลานมหาเจดีย์ ยอมให้รองเท้าของข้าหลวงชาวอังกฤษเหยียบย่ำลงบนร่างกายของตน  ดีกว่าจะยอมให้รองเท้ากระทบถูกลานพระเจดีย์ 
ด้วยพลังศรัทธาอันเปี่ยมล้นดวงใจของชาวพม่า ทำให้ข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษถึงกับสะท้าน และยอมถอดรองเท้าเข้าลานเจดีย์
มหาธรรมกายเจดีย์
มหาธรรมกายเจดีย์ ณ วัดพระธรรมกาย ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวมชาวโลก มาปฏิบัติธรรมร่วมกันได้คราวละ ๑ ล้านคน
  • ศาสนาคริสต์ มีลานมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในนครรัฐวาติกัน เป็นที่รวมชาวคริสต์ได้คราวละหลายแสนคน
  • ศาสนาอิสลาม มีนครเมกกะ  ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นที่รวมชาวมุสลิมได้นับล้านคน
  • ศาสนาพุทธ น่าจะมีสถานที่สักแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่รวมชาวพุทธได้คราวละนับล้านคน
  
เนื่องจากมีเป้าหมายเป็นพุทธสถานของชาวพุทธทั่วโลก รูปทรงเจดีย์จึงได้ย้อนกลับไปสู่ยุคดั้งเดิม ซึ่งเป็นรูปทรงสากล องค์เจดีย์เป็นรูปครึ่งทรงกลมคล้ายสาญจิเจดีย์ และมีเชิงลาดทอดเฉียงลงมา เพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ องค์ และเชิงลาดถัดลงมาเป็นที่นั่งของพระภิกษุจำนวน ๑ หมื่นรูป
ภายในส่วนกลางองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานองค์พระอีก ๗๐๐,๐๐๐ องค์ รวมกับองค์พระภายนอกเป็น ๑ ล้านองค์ 
รอบมหาธรรมกายเจดีย์ มีลานธรรมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นที่ราว ๔๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ถัดจากลานธรรมออกไปที่ขอบทั้ง ๔ ด้าน ล้อมรอบด้วยมหารัตนวิหารคดสองชั้น เป็นแนวยาวทอดเป็นรูปขอบของสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๙๙ เมตร ยาวด้านละ ๑,๐๐๐ เมตร รวมพื้นที่ ๒ ชั้น ราว ๗๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร 
ในวันมาฆบูชา และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ มีชาวพุทธทั่วโลกเดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ ลานมหาธรรมกายเจดีย์นับล้านคน ต่างชื่นชมชาวพุทธไทยที่มีจิตศรัทธา สามารถสร้างพุทธสถานที่งดงาม เป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธทั่วโลกได้ นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธไทยทุกคน 
แต่พุทธสถานภายนอกแม้จะใหญ่โตเพียงใด ก็ยังเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น สิ่งสำคัญ คือ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างเต็มเปี่ยมของชาวพุทธไทย
ซึ่งสามารถร่วมกันสร้างมหาธรรมกายเจดีย์จนสำเร็จได้ และพร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติธรรม จนเต็มลานพระเจดีย์อย่างนี้ 
เจดีย์ทุกรูปทรง ล้วนเป็นองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชาวพุทธควรสักการะบูชา ถ้าเราได้ไปต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศเมียนม่าร์, ทิเบต, จีน หรือเกาหลี เมื่อพบองค์เจดีย์ก็ควรเคารพบูชาจะเป็นสิริมงคลแก่ตน 
ผู้ที่ลบหลู่และกล่าวล้อเลียนองค์เจดีย์ก็เหมือนลบหลู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการสร้างกรรมหนักน่ากลัวยิ่งนัก เราจึงไม่ควรคึกคะนองกล่าวคำดูหมิ่นเหยียดหยามองค์เจดีย์ ไม่ว่ารูปแบบใดทั้งสิ้น

“ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง 
บาปส่งผลเมื่อใด คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น” 
(พุทธพจน์)