การทำความดีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน


“ไม่กลัวหมดตัว ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย” การทำความดีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ในโลก เมื่อเวลาทำความชั่วจะทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่พอจะทำความดีจะทำแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ  เช่น
- นั่งเล่นไพ่ได้คราวละหลาย ๆ ชั่วโมง แต่พอให้นั่งสมาธิประเดี๋ยวเดียวบอกเมื่อย
- ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ใช้เงินถึงไหนถึงกัน บ้างก็กู้หนี้ยืมสิน แต่พอจะทำบุญบอกสิ้นเปลืองเสียดายทรัพย์
- เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์ได้ดึกดื่น บางทีถึงสว่าง แต่พอให้อ่านหนังสือเรียนบอกง่วงนอน
- กลุ่มวัยรุ่นถูกมองหน้า หาว่าเขาหมิ่นศักดิ์ศรี ยกพวกตะลุมบอนบาดเจ็บล้มตาย แต่พอให้นั่งสมาธิ  บอกกลัวขาเป็นเหน็บชา
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้สังคมไหลไปสู่ทางเสื่อม เพราะคนส่วนใหญ่ให้กิเลสเป็นตัวนำในการตัดสินใจ 
ทิศทางสังคมเปลี่ยนได้ เมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมโพธิสัตว์ที่ทุ่มเททำความดีแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้คนอีกจำนวนมากทำความดีอย่างจริงจังตามอย่าง 
พระภิกษุรุ่นบุกเบิกของวัดพระธรรมกาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สร้างความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตนักศึกษา ตั้งใจบวชอุทิศชีวิต โดยไม่อาลัยต่อความสุขสบาย ความสำเร็จทางโลกจึงเป็นแบบอย่างสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับพระภิกษุรุ่นต่อ ๆ มาถึงปัจจุบัน ขยายผลไปถึงอุบาสก อุบาสิกา  ศิษย์วัด แม้ญาติโยมวัดพระธรรมกายจำนวนมาก ก็เป็นผู้ที่ตั้งใจทำความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  นี้เป็นความโดดเด่นที่ดูแตกต่างจากคนทั่วไปในปัจจุบัน จึงเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ว่า “หลงบุญ บ้าบุญ”
ตัวอย่างในอดีต  
ชายตัดฟืน 
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ คันธเศรษฐี มีความคิดว่า บรรพบุรุษสั่งสมทรัพย์เอาไว้มากมาย ตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ เป็นคนไม่ฉลาดเลย คันธเศรษฐีจึงตั้งใจว่า ตนจะใช้ทรัพย์ให้หมดแล้วจึงจากโลกนี้ไป อาหารที่เขาบริโภควิจิตรพิสดารมาก ที่รับประทานในคืนวันเพ็ญมีมูลค่าถึงแสนกหาปณะ นั่งรับประทานบนบัลลังก์อันวิจิตรอยู่ในมณฑป ภาชนะที่ใช้ล้วนวิจิตรงดงาม จนมีมหาชนมามุงดูมากมายทุกเดือน 
มีชายตัดฟืนคนหนึ่ง ได้ไปดูเศรษฐีรับประทานอาหาร แล้วอยากรับประทานอาหารอย่างนั้นมาก จนกระทั่งรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้รับประทานก็คงอยู่ในโลกนี้ต่อไปไม่ได้ เขาจึงไปอ้อนวอนเศรษฐีจนเศรษฐีใจอ่อน ยอมให้ชายตัดฟืนมาทำงานรับใช้ ๓ ปี แลกกับการให้รับประทานอาหารอย่างนี้มื้อหนึ่ง
ชายตัดฟืนตั้งใจทำงานอย่างดีจนครบ ๓ ปี ในวันรับประทานอาหารมื้อพิเศษบนบัลลังก์อันวิจิตรนั้นเอง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เห็นชายตัดฟืนนั้นด้วยญาณทัศนะ จึงเหาะไปยืนอยู่หน้าคนตัดฟืน
ชายตัดฟืนคิดว่าตนเองเกิดมาลำบาก กว่าจะได้รับอาหารที่ประณีตมื้อนี้ ใช้เวลาทำงานนานถึง ๓ ปี นั้นเป็นเพราะเราสร้างบุญมาน้อย ถ้าบริโภคอาหารนี้เราจะอิ่มอยู่แค่วันเดียว แต่ถ้าเราถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า  บุญที่เกิดขึ้นจะตามรักษาเราไปหลายแสนหลายล้านชาติ 
ชายตัดฟืนจึงบรรเทาความอยากในอาหารนั้น แล้วยกถวายลงในบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้นำมือมาปิดบาตรในขณะที่อาหารยังเหลือในถาดครึ่งหนึ่ง ชายตัดฟืนจึงเรียนท่านว่า 
“ท่านขอรับ อาหารนี้พอเหมาะสำหรับคน ๆ เดียว ขอท่านอย่าสงเคราะห์ผมในโลกนี้เลย ขอจงทำการสงเคราะห์ในปรโลกเถิด ผมจักถวายทั้งหมดนี้ทีเดียวไม่ให้เหลือ”แล้วเขาก็ได้ถวายอาหารทั้งหมด
จากนั้นชายตัดฟืนเรียนท่านต่อไปว่า “ท่านขอรับ เพื่ออาหารถาดเดียวนี้ ผมต้องรับจ้างทำงานในบ้านคนอื่นถึง ๓ ปี ได้เสวยทุกข์แล้ว บัดนี้ ขอความสุขจงมีแก่กระผมในทุกชาติเถิด และขอกระผมพึงมีส่วนแห่งธรรมที่ท่านบรรลุแล้วด้วยเถิด” 
พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้พรชายตัดฟืนนั้นให้สมปรารถนา แล้วเหาะกลับเขาคันธมาทน์ มหาชนที่มามุงดูได้ส่งเสียงสาธุกันอื้ออึงดังสนั่น จนเศรษฐีทราบเรื่องราวจึงเกิดศรัทธา จึงได้ให้ทรัพย์กับชายตัดฟืนเป็นอันมาก แม้พระราชาก็ทรงทราบเรื่อง และได้พระราชทานทรัพย์ พร้อมแต่งตั้งชายตัดฟืนให้เป็นเศรษฐีประจำเมืองด้วย 
ชายตัดฟืนมีความสุขตลอดอายุขัย ตายแล้วได้ไปเกิดในเทวโลกตลอด ๑ พุทธันดร และในยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ได้ลงมาเกิดในกรุงสาวัตถี ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์คนในครอบครัวก็มีความสุขตลอด กุมารนั้นจึงได้ชื่อว่า สุขกุมาร ต่อมาภายหลัง มีศรัทธาออกบวชเป็นสามเณร และ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณร สมตามคำอธิษฐาน
บัณฑิตทั้งหลาย ในกาลก่อนท่านรู้ค่าของบุญ ยอมถวายอาหารอันประณีตที่ตนทุ่มทำงานถึง ๓ ปี กว่าจะได้มาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าจนหมด พระท่านแบ่งครึ่งให้ก็ไม่ยอมรับ ขอถวายหมด เห็นคนทุ่มทำความดีอย่างนี้ เราควรอนุโมทนาสาธุการ เราก็จะได้มีส่วนแห่งบุญด้วย หากใครไปตำหนิท่านว่า “หลงบุญ  บ้าบุญ” ก็กลับจะได้บาป
วัดพระธรรมกาย มุ่งสร้างสังคมดังเช่นครั้งพุทธกาลให้กลับคืนมา
วัดพระธรรมกาย มุ่งสร้างสังคมดังเช่นครั้งพุทธกาลให้กลับคืนมา โดยพระภิกษุตั้งใจบวชด้วยอุดมการณ์ ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง นุ่งห่มจีวรเป็นปริมณฑล มีศีลาจารวัตรงดงาม ศึกษาปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรม เป็นเนื้อนาบุญแก่ญาติโยม 
ญาติโยมตั้งใจศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม และอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ช่วยเหลือกิจการงานพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง เช่น การตักบาตร การชวนคนบวชพระ การทอดผ้าป่าช่วยวัดใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ การต้อนรับคณะพระธุดงค์ธรรมยาตรา 
เมื่อร่วมในพิธีกรรมใด ๆ ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสต่างสำรวมกาย วาจา ใจ ภาพที่ออกมาจึงเป็นระเบียบเรียบร้อย งดงาม เพราะความร่วมใจของทุกคน 
ญาติโยมวัดพระธรรมกาย ตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง ญาติโยมซึ่งมีฐานะยากจนก็ทำบุญคราวละสิบบาท ยี่สิบบาท ที่มีฐานะปานกลางอาจทำบุญคราวละร้อย หรือพัน ที่มีฐานะดีก็อาจทำบุญคราวละหมื่น แสน หรือล้านตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธา  
ในญาติโยมเรือนล้าน ผู้ที่ทุ่มทำบุญมากจนเกินตัวคงมีอยู่ แต่เราไม่ควรเอากรณีของคนเพียงส่วนน้อยมาโจมตีจนสังคม มีอคติต่อการให้ทาน  
จริง ๆ แล้วการให้ทาน เมื่อทำอย่างมีวัตถุประสงค์ไม่มีคำว่ามากไป พระโพธิสัตว์ท่านถึงขนาดให้ชีวิตของตนเองเป็นทานด้วยซ้ำ ซึ่งทำได้ยากยิ่งกว่าการให้ทรัพย์เป็นทาน 
ปัญหาของสังคมไทยขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องคนให้ทานมากไป แต่อยู่ที่คนใช้ทรัพย์ไปกับอบายมุขทั้งเหล้า บุหรี่ การพนันมากไป มากกว่าการทำบุญเป็นสิบเท่า เราไม่ควรโจมตีคนทำบุญ แต่ควรใช้เวลาและสติปัญญารณรงค์ให้คนไทยเลิก ลด ละอบายมุขดีกว่า
มีประเด็นโจมตีวัดพระธรรมกายซึ่งขัดแย้งกันเอง คือ
วัดนี้สอนให้ทำบุญจนหมดเนื้อหมดตัว
วัดนี้คนเข้าวัดมีแต่เศรษฐี คนรวย
ถ้าวัดสอนให้ลูกศิษย์ทำบุญหมดเนื้อหมดตัวจริง วัดก็น่าจะเหลือแต่คนจน คนหมดตัว วัดจะมีแต่ลูกศิษย์ที่เป็นเศรษฐี หรือคนรวยได้อย่างไร 
ความจริง คือ วัดสอนให้ญาติโยมรู้จักประหยัด อดออม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ขยันขันแข็งทำการงาน และรู้จักการทำบุญทั้งทาน ศีล ภาวนา เมื่อผลบุญส่งฐานะร่ำรวยขึ้น ญาติโยมจึงสละเงินส่วนหนึ่งมาทำบุญด้วยความศรัทธา และเห็นคุณค่าในการส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา