สุดอาลัย! เปิดประวัติหลวงพ่อคูณ เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด หลังละสังขาร





สิ้นแล้ว สำหรับ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ หลังจากป่วยเรื้อรังจากโรคต่างๆ หลายโรค และละสังขารในวัย 92 ปี 71 พรรษา ถึงแม้พระเกจินักพัฒนาจะจากไป แต่ท่านก็ทิ้งคำสอนที่ขัดเกลาให้เหล่าลูกศิษย์และประชาชนเป็นคนดี รวมถึงสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ท่านระดมเงินบริจาคมาใช้จ่ายในการช่วยเหลือทุกคน โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนและอื่นๆ อีกมากมาย



ประวัติ พระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ มีฉายาว่า เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด มีชื่อเดิมว่า คูณ ฉัตรพลกรัง เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2466 ที่ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโต ในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของนายบุญ และ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง





หลวงพ่อคูณละสังขารแล้วอายุ 92 ปี ศิษย์โศกเศร้า

หลวงพ่อคูณเกิดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2466 ที่ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา




ด้านการศึกษา ศึกษาหนังสือกับพระอาจารย์หล ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งท่านเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และ วิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและศิษย์อย่างมาก โดยศึกษาพุทธาคมจากนายหลอดซึ่งเป็นตาของท่าน และศึกษาวิชาฝังตะกรุดที่ท้องแขนก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระอาจารย์คง พุทธสโร วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน ต่อมาได้รับปริญญานิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล



ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณ ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2487 มีพระครูวิจารยติกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทองสุก วัดโคกรักษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทองมาก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปริสุทฺโธ"ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่





หลวงพ่อคูณ ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2487

นางทองขาว มารดาของหลวงพ่อคูณ เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์

น้องสาวหลวงพ่อคูณ ชื่อ ทองหล่อ หรือ ป้าคำมั่น




ทั้งนี้ หลังจากที่หลวงพ่อคูณได้ศึกษาวิชาฝังตะกรุดที่ท้องแขนก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระอาจารย์คง พุทธสโร แล้ว ก็ได้เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ด้วย



หลังจากเดินธุดงค์ ก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อบำเพ็ญกุศลโดยมิได้หวังผลตอบแทน และเพื่อสั่งสอนพุทธศาสนิกชนให้ประพฤติอยู่ในศีลธรรม ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาทางด้านวัตถุมงคลควบคู่กันไปด้วย และเริ่มใช้วิชาความรู้ของท่านให้เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญเท่าที่ท่านจะสามารถกระทำได้จนเป็นพระนักพัฒนา ผู้มีเมตตาจิตสูงยิ่ง สร้างสาธารณประโยชน์มากมาย ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนหลายแห่ง เป็นที่นับถือ เคารพศรัทธาของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวด่านขุนทดต่างพากันขนานนามท่านว่า"เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด"





"กูทำดีเขาจึงให้ของดีกูมา" คำสอนหลวงพ่อคูณ

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ มีฉายาว่า เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด




หลวงพ่อคูณ เป็นพระมีอาจารวัตรสันโดษ มักน้อย ปราศจากมัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ถี่เหนี่ยว แต่ท่านกลับมีเมตตาธรรมสูงส่ง ชอบที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มุ่งมั่นในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง



ในปี 2539 หลวงพ่อคูณได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระราชวิทยาคมอุดมกิจจานุจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี" จากนั้นก็ได้รับสมณศักดิ์ เป็น "พระเทพวิทยาคม"



ด้านวัตถุมงคลของท่าน เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ ปี 2512 ออกที่วัดแจ้งนอก จังหวัดนครราชสีมา หรือที่เรียกกันว่า เหรียญรุ่นแรก, เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ ปี 2517 ที่ระลึกในโอกาสสร้างกุฏิวัดสระแก้ว อ.เมืองนครราชสีมา, เหรียญรูปไข่นั่งเต็มองค์ ปี 2519 นอกจากนี้ หลวงพ่อคูณ ก็ยังสร้างพระเครื่องอีกหลายรุ่น จนตัวท่านเองก็ยังจำไม่ได้





แถลงการณ์ ฉบับที่ 4 ระบุว่า หลวงพ่อคูณได้มรณภาพลงแล้ว

หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ




ขณะที่คำสอนของหลวงพ่อคูณ ที่เคยกล่าวตักเตือนไว้ก็มีมากมาย อาทิ "ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้" "กูให้พวกมึงรู้จักพอเพียง" "กูดีใจที่ได้เกิดเป็นคนจนเพราะได้สร้างทานบารมี ถ้ากูเกิดเป็นคนรวยป่านนี้ คำว่า บุญก็ไม่รู้จักกัน" "เกิดมาแล้ว รักความสงบให้มีศีลธรรมไว้ประจำใจทุกๆ คน โลกจะได้อยู่ชุ่มกินเย็น..."



นี่คือประวัติโดยสังเขปของพระนักพัฒนา ที่ไม่หวังเงินทอง ลาภยศ ที่ใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านทุกคน จนคนที่ด่านขุนทดต่างเลื่อมใสและยกย่องให้ท่านเป็นเทพเจ้า.





แหล่งข่าว : http://www.thairath.co.th/content/499115